ความฉลาด และความน่ารักของ “แมวเหมียว” เป็นเสน่ห์ที่ทำให้มนุษย์ ยอมตกเป็นทาสแบบหมดใจ โดยวัดได้จาก ความนิยมที่นักวิทยาศาสตร์เลือกมาเป็น งานวิจัยแมว และเป็นหัวข้อศึกษาค้นคว้าติดอันดับต้นๆ เลยทีเดียว เชื่อว่าหลายพฤติกรรมบางอย่าง ที่ได้มาจากงานวิจัยทาสแมวอย่างเรา อาจจะไม่เคยรู้เลยด้วยซ้ำว่า เจ้านายตัวจ๋อยของเราก็มีความสามารถเหมือนกัน มาลองดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้างกันค่ะ
6 งานวิจัยแมว ที่ทาสแมวต้องรู้ไว้

1. แมวไม่ใช่สัตว์มังสวิรัติ
เจ้าของแมวบางคนคิดว่า การให้แมวกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์มากๆ จะส่งผลทำให้แมวมีพยาธิเยอะ แต่ในความเป็นจริงแล้วตามธรรมชาติของแมว เป็นสัตว์ที่ต้องกินเนื้อ การที่ให้แมวหันมากินผัก หรือธัญพืช เป็นมื้อหลักนักวิทยาศาสตร์พบว่าจะทำให้แมวขาด “ทอรีน” (Taurine) หรือโปรตีนชนิดที่ร่างกายของแมวผลิดขึ้นเองไม่ได้ การที่แมวขาดทอรีน ก็จะเป็นผลเสียต่อร่างกาย อาจทำให้หัวใจล้มเหลว ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะรุนแรง หรือบางตัวถึงกับตาบอด แม้ว่าจะมีการเติมทอรีนลงไปในอาหารมังสวิรัติ ก็ไม่สามารถทดแทนได้มากนัก

2. การส่งยิ้มแบบแมวๆ เอาชนะใจเจ้าเหมียวได้
จากงานวิจัยพบว่า หากเจ้าของค่อยๆ ปิดตาลงให้สนิทโดยให้ปิดตาไวประมาณ 2-3 วินาที แล้วจึงลืมตาขึ้นช้าๆ ประหนึ่งเหมือนเรายิ้มอ่อนๆ อย่างผ่อนคลายให้กับเจ้าเหมียว วนทำลักษณะนี้ซ้ำๆ ไปมาหลายรอบ คุณจะพบว่า เจ้านายตัวน้อยกำลัง “ยิ้มตอบ” กลับมาด้วยการทำอากัปกิริยาเดียวกับคุณคือ กะพริบตาช้าๆ ให้ด้วยเช่นกัน

3. หนวดแมวทำหน้าที่ล่าเหยื่อ
ทราบหรือไม่ว่า หนวดแมวที่ติดอยู่ใต้จมูกเจ้าเหมียว มีอยู่ประมาณ 24 เส้น ซึ่งเส้นหนวดประเภทเดียวกันนี้ ยังมีที่เหนือดวงตา คาง และบริเวณด้านหลังของอุ้งเท้าหน้าด้วย หนวดแมวแข็งที่เห็นอยู่นี้ จะเชื่อมต่อกับเส้นประสาทโดยตรง มีหน้าที่ช่วยทำให้ประสาทสัมผัสของพวกมันไวขึ้น โดยเฉพาะเวลาล่าเหยื่อ ยิ่งส่วนปลายของหนวดยังมีความพิเศษ เพราะสามารถวัดระยะทาง และกระแสอากาศได้ ทำให้แมวใช้คำนวณตำแหน่งทิศทางต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ
4. แมวหลงรักและผูกจิตกับคุณอย่างจริงใจ
ใครว่าแมวมองมนุษย์เป็นแค่เพียงทาสรับใช้ผู้ซื่อสัตว์เท่านั้น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออริกอนสเตตในสหรัฐพบว่า แมวไม่ได้เป็นสัตว์ที่หัวใจด้านชาอย่างที่คิด จากการศึกษาพฤติกรรมของลูกแมว 70 ตัว โดยสร้างสถานการณ์ให้เจ้าของออกจากห้องไประหว่างที่กำลังเล่นด้วยกัน ลูกแมวจะเริ่มแสดงอาการว่ารู้สึกกลัว และไม่ปลอดภัยออกมา นั่นหมายความว่าลูกแมวมี “ความผูกพันแบบรู้สึกมั่นคงปลอดภัย” (secure attachment) ต่อเจ้าของ เหมือนทารกน้อยที่รู้สึกอุ่นใจทุกครั้งที่ได้อยู่ในอ้อมอกแม่
5. แมวเป็นตัวการที่ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป
จากที่แมวเป็นสัตว์นักล่านี่แหล่ะ ที่ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาในสหรัฐฯ พบว่าแมวมักเลือกออกล่าเหยื่อในรัศมี 100 เมตรรอบบ้าน โดยสัตว์ที่ตกเป็นเหยื่อหนีไม่พ้น กระรอก หนู นก และสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆ ซึ่งการล่าสัตว์ของเจ้าเหมียว อาจส่งผลต่อระบบนิเวศตามธรรมชาติด้วยก็ได้
6. แมวเป็นนักพยากรณ์รู้ฝนฟ้าคะนองล่วงหน้า
ความเชื่อที่ว่าสัตว์มักมีประสาทสัมผัสรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าก่อนมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเสียง หรือกลิ่นอยู่บ่อยครั้ง ยิ่งถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศที่ลดลงก่อนพายุจะมา จะส่งผลต่อหูชั้นในของแมวทำให้แมวรับรู้ หรือเสียงฟ้าที่ร้องมาแต่ไกลๆ เจ้าเหมียวก็สามารถรับรู้ได้ จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมบางคนถึงสังเกตุอาการของเจ้าเหมียว ก่อนที่จะออกจากบ้านให้เสี่ยงตัวเปียก
หวังว่า 6 ข้อที่นำมาฝากกันนี้จะช่วยให้เหล่าบรรดาทาสแมวได้รู้จักเจ้านายดียิ่งขึ้นนะคะ และอาจปรับเปลี่ยนมุมมองในแง่ลบที่มีต่อแมวเหมียวใหม่ว่า เนื้อแท้แล้วแมวไม่ใช่สัตว์เข้าใจยากแต่อย่างใด
แหล่งข้อมูล : https://www.bbc.com/thai/international-58135483
เรื่องอื่นที่น่าสนใจ : 5 วิธีขจัด ปัญหาสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน ที่หงุดหงิดกวนใจ