ช่วงนี้พายุฝนฟ้าคะนองไม่เว้นแต่ละวัน นอกจากจะต้องคอยเฝ้าระวังน้ำท่วมบ้านแล้ว ยังต้องคอยดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคที่มากับฝน โดยเฉพาะ โรคผิวหนังอันตราย อย่าง โรคกลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า โรคผิวหนังอักเสบจากแมลงกัดต่อย โรคเท้าเหม็น โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้โรค และสิวเห่อ เป็นต้น หากเริ่มรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติ แนะนำว่าต้องรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทันที เพื่อได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกวิธี
อธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ได้กล่าวว่า ช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่ความชื้นในอากาศสูงมากกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงนี้ฝนตกแทบทุกวัน ส่งผลให้เชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียสามารถเจริญเติบโตได้ดี ยิ่งประชาชนที่ต้องเดินทางออกไปทำงานนอกบ้านทุกวัน หลีกไม่ได้ที่ต้องโดนฝน ลุยน้ำ เสื้อผ้าเปียกตลอด ซึ่งสิ่งที่ตามมาคงหนีไม่พ้นโรคผิวหนังที่พบบ่อย ๆ อย่าง โรคกลาก และเกลื้อน โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบจากแมลงกัดต่อย โรคน้ำกัดเท้า โรคเท้าเหม็น และสิวเห่อ ฉะนั้นต้องคอยหมั่นสังเกตตัวเองว่าผิวหนังมีบาดแผล หรือเกิดอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อรับการวินิจฉัยรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมกับโรคต่อไป
ทั้งนี้ แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้แจ้งเพิ่มเติมว่า 4 โรคผิวหนังที่มักพบมากที่สุดในหน้าฝน คือ
4 โรคผิวหนังอันตราย

1. โรคผิวหนังอักเสบจากแมลงสัตว์กันต่อย
ในช่วงหน้าฝนเหล่าแมลงอันตราย เช่น แมลงบิน แมลงดูดเลือด (ยุง, ริ้นดำ, ริ้นทะเล) ชอบหนีน้ำขึ้นมา หากเราไปสัมผัสถูกพวกมันโดยไม่ได้ตั้งใจอาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่โดนแมลงเกิดแผลไหม้ หรืออักเสบได้ การดูแลรักษาหลังจากถูกแมลงกัดหรือสัมผัสโดน รีบล้างด้วยน้ำสะอาด ถ้าเกิดผื่นคันให้ใช้ยาสำหรับทาแมลงสัตว์กัดต่อยทาลงไปที่บาดแผล แต่ถ้ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อนร่วมด้วยให้รีบไปพบแพทย์ในทันที
2. โรคน้ำกัดเท้า
สาเหตุมาจากเชื้อรากลุ่ม Dermatophytes ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในประเภทเชื้อราชนิดเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคกลากนั่นเอง โดยพบได้ที่บริเวณเท้า และซอกนิ้วเท้า สาเหตุมาจากการลุยน้ำ ลุยฝน เกิดความอับชื้นของรองเท้าซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี หรืออาจจะมาจากข้าวของเครื่องใช้มีเชื้อรานี้ติดอยู่ด้วยก็ได้ ในบางรายนอกจากจะติดเชื้อราแล้วยังอาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเพิ่มเข้าไปอีก การรักษาคือให้ทายาฆ่าเชื้อราภายนอก หรือแพทย์อาจพิจารณาให้ยามารับประทานขึ้นอยู่กับตำแหน่ง และความกว้างของบริเวณที่ติดเชื้อ รวมทั้งภูมิต้านทานของผู้ป่วยเองก็มีส่วน่
3. โรคกลาก และ เกลื้อน
โรคกลากจะพบเชื้อรากลุ่ม Dermatophytes เป็นกลุ่มเดียวกันกับโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งหากใครติดเชื้อราชนิดนี้สามารถกระจายได้ทั่วผิวหนังตามร่างกาย ยิ่งบริเวณที่อับชื้น เช่น ก้น ขาหนีบ ซึ่งเชื้อราจะชอบมากเป็นพิเศษ ส่วนโรคเกลื้อนเป็นเชื้อราในกลุ่ม Pityriosporum ลักษณะอาการก็จะแตกต่างกันออกไป ส่วนวิธีการดูแลรักษาสามารถทำได้เหมือนโรคน้ำกัดเท้า แต่สิ่งสำคัญที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคกลากและเกลื้อนให้หมั่นทำความสะอาดร่างกาย และเสื้อผ้าที่สวมใส่ควรทำให้แห้งอยู่ตลอด
4. โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้
มักพบได้ในผู้ที่มีภาวะโรคภูมิแพ้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อผิวหนังถูกกระตุ้นจากความชื้น เหงื่อที่ระบายออกยาก การติดเชื้อราหรือแบคทีเรียเล็ก ๆ น้อย ๆ บนผิวหนัง ล้วนแล้วแต่ทำให้ผื่นภูมิแพ้แย่ลง การดูแลรักษาควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่รุนแรงต่อผิว หรือทาครีมบำรุงที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือสารเร่งให้ขาวเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวเกิดการระคายเคือง และเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย ไม่รัดแน่นมากจนเกินไป
นอกจาก 4 โรคอันตรายต่อผิวหนังที่มาพร้อมกับฝนแล้ว ยังมีโรคอื่น ๆ เช่น เท้ามีกลิ่นเหม็น, สิวเห่อ เป็นต้น ซึ่งแนวทางป้องกันที่ดีที่สุดคือ เมื่อโดนฝนเปียกชื้นควรล้างตัวให้สะอาด และรีบทำตัวให้แห้งโดยเร็วจะช่วยให้ไม่ต้องทนทุกข์กับโรคผิวหนังเหล่านี้
อ้างอิงข้อมูล : https://www.komchadluek.net/
เรื่องอื่นที่น่าสนใจ : 7 เมนู อาหารต้านโควิด – 19 กินเสริมเพิ่มภูมิคุ้มกัน