นักกำหนดอาหารวิชาชีพ แนะผู้บริโภคถึง วิธีอ่านฉลากโภชนาการ ก่อนซื้อทุกครั้ง เพื่อรู้ว่าปริมาณหวาน มัน เค็ม พลังงาน และสารอาหารได้รับตรงตามปริมาณที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันหรือไม่ นอกจากนั้นยังรวมถึงสามารถควบคุมการรับประทานอาหารแปรรูปและอาหารแช่แข็งได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล พร้อมรับประโยชน์คุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วน
วิธีอ่านฉลากโภชนาการ

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ อาจารย์แววตา เอกชาวนา ได้เผยว่า คนไทยมักคุ้นชินกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เน้นรสชาติอาหารจัดจ้าน อาหารทุกชนิดที่รับประทานอย่างน้อยหนึ่งครั้งจะต้องเติมเครื่องปรุงอาหาร เช่น น้ำตาล น้ำปลาซอส หรือกระเทียมเจียว เพื่อให้รสชาติของอาหารกลมกล่อมมากขึ้น ยิ่งอาหารจำพวกแปรรูปจะถูกปรุงแต่งรสชาติให้ถูกปากผู้บริโภคหนึ่งครั้งก่อนที่จะถึงมือผู้ซื้อ
ซึ่งในการปรุงแต่งรสชาติจะยิ่งทำให้ปริมาณของส่วนประกอบเครื่องปรุงให้พลังงานมากเกินกว่าที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน เมื่อได้รับเกินความจำเป็นบ่อย ๆ ก็ส่งผลให้เกิดการสะสมซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเจ็บป่วยต่าง ๆ ฉะนั้นการจะเลือกบริโภคอาหารที่ไม่ได้ปรุงสดด้วยตัวเอง ก็ควรที่จะเลือกซื้ออาหารที่มีฉลากโภชนาการ GDA (Guideline Daily Amounts) ที่ระบุไว้ด้านข้างของบรรจุภัณฑ์ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าปริมาณก่อนที่จะบริโภคต่อหน่อย ควรมีค่าน้ำตาล ไขมัน พลังงาน และโซเดียม อยู่เท่าไหร่ เพื่อให้เกิดประโยชน์และป้องกันปัญหาด้านโภชนาการที่ผู้บริโภคจะได้ผลกระทบ
ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญต่อสุขภาพของตัวเองมากขึ้น ซึ่งที่สามารถมองเห็นได้เด่นชัด คือ การเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่นอาหารคลีน เพราะเชื่อว่าการทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพจะช่วยส่งเสริมให้วิถีชีวิตประจำวันอยูดีกินดี ดังนั้นทุกครั้งที่จะเลือกซื้ออาหาร ควรศึกษาฉลากโภชนาการ GDA ก่อน เพราะข้อมูลที่ระบุบนฉลากโภชนการจะเป็นตัวช่วยที่ยอดเยี่ยมในการนำมาใช้วิเคราะห์ถึงปริมาณค่าพลังงานของ ไขมัน น้ำตาล และ โซเดียม มีปริมาณเท่าไหร่ เพื่อนำมาใช้ตัดสินใจว่าควรบริโภคอาหารชนิดนี้หรือไม่ แล้วรับระทานแล้วจะส่งผลเสียต่อร่างกายในรูปแบบใด

จากรายงานด้านพฤติกรรมการบริโภคขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) และองค์กรเพื่อสุขภาพต่าง ๆ ในไทย อาทิเช่น สถาบันโภชนการ กรมอนามัย ได้เสนอว่าพบพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมหรือเกลืองของคนไทยถึง 3,636 มิลลิกรัม ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณที่ร่างกายควรได้รับจากปริมาณที่ WHO แนะนำมากขึ้นกว่า 2 เท่า โดย WHO ได้แนะนำให้ผู้บริโภคไม่ควรได้รับโซเดียมหรือเกลือเกิน 2,000 มิลลิกรัม (1 ช้อนชา) ทั้งนี้จากพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลต่อร่างกายทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases : NCDs) เช่น โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะนำพาไปสู่โรคหัวขาดเลือด โรคอ้วน อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดสมอง และที่สำคัญคือส่งผลเสียต่อไตโดยตรงอีกด้วย
ล่าสุดกรมสรรพสามิต และ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กำลังร่วมพิจารณาเตรียมนำ “ภาษีความเค็ม”เข้ามาใช้กำกับดูแลผลิตภัณฑ์อาหารที่คาดว่าจะมีปริมาณการบริโภคสูง เช่น อาหารแช่เย็นสำเร็จรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และขนมจำพวกกรุบกรอบ โดยมีเป้าหมายภายในปี 2568 คนไทยควรบริโภคอาหารเค็มลดลง 30% นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญต่อการเลือกรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน หรือมีรสชาติ หวาน มัน เค็ม มากเกินไป แม้กระทั่งการเลือกรับประทานอาหารเดิม ๆ บ่อย ๆ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร
ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารควรเลือกจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ มีฉลากโภชนาการระบุข้อมูลปริมาณสารอาหารแต่ละชนิด อย่างครบถ้วนชัดเจน รวมทั้งแหล่งผลิต วัน/เดือน/ปี ที่สำคัญจะต้องมีตราสัญลักษณ์การรับรองมาตรฐานที่ออกโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพราะข้อมูลบนฉลากจะช่วยเป็นหลักประกันให้กับผู้บริโภคว่าควรที่จะรับประทานอาหารประเภทนี้หรือไม่ ยิ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรค NCDs ยิ่งต้องใส่ใจอ่านฉลากก่อนที่จะเลือกซื้ออาหารเพื่อนำไปบริโภคทุกครั้ง
ข้อมูลอ้างอิง : https://www.thaihealth.or.th
เรื่องอื่นที่น่าสนใจ : 6 เดือนมหัศจรรย์ น้ำนมแม่ “Super Food” ที่เด็กทารกไทยควรได้รับ